ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 มีมติเป็น "เอกฉันท์" ให้ตัดงบจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำของกองทัพเรือ (ทร.) ออกจากงบปีหน้า ภายหลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนว่าให้นำงบไปดูแลปัญหาปากท้องประชาชนก่อน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสังคม
ในระหว่างการประชุม กมธ.งบประมาณ 2564 ช่วงบ่ายวันนี้ (31 ส.ค.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ ประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทร. ได้ทำหนังสือถึง กมธ. ชี้แจงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายจนนำไปสู่ความมั่นใจ จึงขอเลื่อนการชำระเงินออกไป โดยยอมให้ตัดลดงบประมาณจำนวน 3,925 ล้านบาทออกจากงบปี 2564
หลังจากนี้ ทร. และกระทรวงกลาโหมจะไปเจรจากับประเทศผู้ผลิตว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรในการที่จะให้ประเทศไทยมีเรือดำน้ำตามความประสงค์
"สรุปคือปีนี้เลื่อนงบประมาณก้อนแรกในการที่จะไปจ่าย" นายสันติระบุ
อย่างไรก็ตามประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 อ้างว่า จากการสอบถามและพูดคุยกับ กมธ. ต่างมีความเห็นตรงกันว่ากรณีเรือดำน้ำมีความจำเป็น และจำนวน 3 ลำนั้นก็น้อยเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากไทยมีทะเลอยู่ 2 ฝั่งซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลหลายพันกิโลเมตร และไกลออกไปก็มีพื้นที่ทับซ้อนด้านความมั่นคง
ภายหลัง กมธ. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลากหลาย ในที่สุดที่ประชุมมีมติเป็น "เอกฉันท์" ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง ให้ชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงินรวม 22,500 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเรือดำน้ำของ ทร. รวม 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท โดย ทร. ได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปเมื่อปี 2560 และจะเข้าประจำการในปี 2566 หลังทยอยชำระเงินในปี 2560-2566 ส่วนอีก 2 ลำ มีแผนทยอยชำระปี 2564-2570 หลังถูกเรียกงบปี 2563 คืนไป 3,375 ล้านบาทเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 มาถึงปีงบประมาณ 2564 จึงขอตั้งงบเท่าเดิมที่ 3,375 ล้านบาท
เอกสารของ ทร. ที่แจ้งต่อประธาน กมธ.งบประมาณระบุตอนหนึ่งว่า "ขอปรับลดงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งหมด คงเหลืองบประมาณในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 0 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ"
พล.ร.ท. ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารเรือ ให้ส่งหนังสือถึงประธาน กมธ.งบประมาณ 2564 ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้การปรับลดงบประมาณครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผนงานของ ทร. และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม แต่ ทร. ตระหนักถึงความจำเป็นตามสถานการณ์ของประเทศ และเห็นว่าการเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จึงยอมปรับลดงบประมาณ
ก่อน กมธ.งบประมาณปี 2564 จะมีมติกรณีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เปิดเผยแนวทางการตัดสินใจต่อสาธารณะผ่านถ้อยแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
"พล.อ. ประยุทธ์ ได้มีการพูดคุยเป็นการภายในกับกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพเรือ ได้ข้อสรุปว่าขอให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำในลำที่ 2 และ 3 ไปก่อน เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของนายกฯ ที่เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน สังคม และ กมธ. ที่จะต้องนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชน และเรื่องอื่น ๆ ที่คิดว่าเหมาะสม" นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล
ส่วนการเจรจากับทางจีนเพิ่มเติมในการจะชะลอหรือเลื่อนการจัดซื้อไปอีก 1 ปี จะมีผลออกมาอย่างไร ทาง ทร. จะเป็นผู้ให้รายละเอียดเรื่องนี้ ทั้งนี้โฆษกประจำสำนักนายกฯ อยากให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของกองทัพที่ต้องการดูแลประชาชน และทรัพยากรของประเทศไทยให้ดีที่สุด และรัฐบาลจะพยายามดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อให้ทั้งหมดมีความสอดคล้อง ประชาชนมีความสบายใจเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม
นายเอกชัยยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ดำเนินการมาตั้งแต่การจัดซื้อลำที่ 1 แล้ว ส่วนลำที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่จะมีการส่งมอบต่อเนื่องเท่านั้นเอง
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาเรือดำนำของ ทร. ถูกจุดประเด็นโดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน โดยเขาได้ออกมาเปิดเผยเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ หรือ "จีทูจีเก๊" พร้อมวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ
เขายังเป็นผู้เปิดเผยมติอนุ กมธ. เมื่อ 24 ส.ค. ที่ออกมาแบบเฉียดฉิว 5-4 ให้เดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไป โดยอ้างว่านายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุ กมธ. ครุภัณฑ์ฯ ได้ร่วมลงมติชี้ขาดหลังได้รับโทรศัพท์จาก "นายพล" รายหนึ่ง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง ร้อนถึงนายสุพลต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวปฏิเสธใบสั่งผ่านสายโทรศัพท์
เช่นเดียวกับนายพลสังกัด ทร. ที่แถลงตอบโต้พรรคฝ่ายค้านให้หยุดเล่นการเมืองแบบเก่า ๆ และขอ "อย่านำกองทัพเรือไปสร้างความเกลียดชังอย่างผิด ๆ" และ "จีทูจีปลอมคือการกล่าวเท็จ ให้ข้อมูลผิด ครม. อนุมัติให้ ผบ.ทร.เป็นผู้แทนของไทยไปลงนาม"
"ออกไป" - Google News
August 31, 2020 at 04:33PM
https://ift.tt/32I0e55
เรือดำน้ำจีน : มติเอกฉันท์ กมธ.งบ 64 ตัดงบซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ หลังนายกฯ สั่ง ทร. แขวนโครงการ พร้อมหาทางเจรจากับจีน - บีบีซีไทย
"ออกไป" - Google News
https://ift.tt/2MnsD8Q
No comments:
Post a Comment