Pages

Tuesday, July 28, 2020

EIC SCB เผยส่งออกมิ.ย.หดตัวน้อยลง สะท้อนการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว - efinanceThai

trigerana.blogspot.com

  EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ เดือนมิถุนายนหดตัวที่ -17.3%YOY เป็นการหดตัวที่น้อยลงจากเดือนก่อนหน้า (-27.8%YOY) ตามคาด หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ

  EIC คาดภาวะการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระยะข้างหน้า ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว รวมถึงปัญหา supply chain disruption ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง

  อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกไทยยังมีอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ได้แก่ การกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของ COVID-19, ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ

Key points
  มูลค่าการส่งออกเดือนมิถุนายน 2020 หดตัวที่ -23.2%YOY (เทียบกับหดตัว -22.5%YOY ในเดือนก่อนหน้า) แต่หากหักทองคำ การส่งออกจะหดตัวลดลงที่ -17.3%YOY (เทียบกับหดตัว -27.8%YOY ในเดือนก่อน) เนื่องจากมูลค่าส่งออกทองคำที่สูงในเดือนมิถุนายน 2019 ทำให้การส่งออกทองคำเดือนมิถุนายน 2020 หดตัวถึง -86.0%YOY

  ทั้งนี้การหดตัวที่ชะลอลงในเดือนมิถุนายน สะท้อนว่า การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงก่อนหน้า ที่หลายประเทศมีมาตรการปิดเมือง สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ในภาพรวมหดตัวอยู่ที่  -7.1%YOY โดยหากหักการส่งกลับอาวุธและทองคำ การส่งออกจะหดตัวสูงถึง -10.5%YOY

สินค้าส่งออกสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการหดตัวที่ชะลอลง

  การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวในอัตราชะลอลงที่ -42.3%YOY โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปสงค์ในตลาดรถยนต์ที่ซบเซา ซึ่งมีการหดตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย (-38.7%YOY) ญี่ปุ่น (-27.6%YOY) และฟิลิปปินส์ (-48.4%YOY)

  การส่งออกสินค้าเกษตรพลิกกลับมาหดตัวที่ -15.8%YOY หลังจากขยายตัว 14.1%YOY ในเดือนพฤษภาคม โดยสินค้าเกษตรหลักที่หดตัวได้แก่ ข้าว (-25.6%YOY) ยางพารา (-55.6%YOY) และน้ำตาลทราย (-57.1%YOY) อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรบางประเภทยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง (21.2%YOY) และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (757.8%YOY)

  ด้านมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ยังมีการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก (-15.0%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-15.2%YOY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-20.2%YOY) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (-30.7%YOY) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-31.8%YOY) รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป (-36.3%YOY)

  ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญบางรายการสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนมิถุนายน ได้แก่ การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวที่ 4.6%YOY, ผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัว 10.5%YOY และการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัว 0.9%YOY

ด้านการส่งออกรายประเทศ การส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญอื่น ๆ หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังญี่ปุ่น EU15 และประเทศกลุ่มอาเซียน

  การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 12.0%YOY หลังจากขยายตัว 15.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง

  การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวสูงถึง 14.5%YOY หลังจากที่หดตัวอยู่ที่ -17.3%YOY  ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

  การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -21.6%YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และพลาสติกและเคมีภัณฑ์

  การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ -38.8%YOY หลังจากหดตัวอยู่ที่ -27.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ อัญมณีและเครื่องประดับ (ทองคำ) รถยนต์และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป

  การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -22.7%YOY หลังจากหดตัวที่ -40.0%YOY ในเดือนพฤษภาคม  สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

  การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวชะลอลงที่ -17.8%YOY หลังจากหดตัวที่ -28.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็กและผลิตภัณฑ์

  การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง หดตัวชะลอลงที่ -10.4%YOY หลังจากหดตัวสูงถึง -30.6%YOY
ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ

  ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวชะลอลงอยู่ที่ -18.2%YOY ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากหดตัวสูงถึง -34.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสำคัญ  ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-21.1%YOY) หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-30.6%YOY) สินค้าทุน (-8.2%YOY)  และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-42.7%YOY) ตามลำดับ

  อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัวที่ 0.0%YOY ปรับดีขึ้นหลังจากหดตัวสูงถึง -22.6%YOY ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ทั้งนี้การนำเข้าในครึ่งปีแรกของปี 2020 หดตัวอยู่ที่ -12.6%YOY และเกินดุลการค้า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Implication
  การส่งออกภาพรวม (ไม่รวมทอง) ในเดือนมิถุนายนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าตามคาดหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ โดยการส่งออกเดือนมิถุนายนที่หดตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกทองคำกว่า -86%YOY ซึ่งหากหักทองคำ การส่งออกจะหดตัวน้อยลงเหลือเพียง -17.3%YOY

  ทั้งนี้สินค้าส่งออกมีทิศทางหดตัวน้อยลงในหลายจำพวก โดยเฉพาะในหมวดเครื่องไช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอาหารแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมประเภทคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้

  อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรพลิกหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนตามการหดตัวของการส่งออกข้าว ยางพารา และน้ำตาลทราย

  EIC คงประมาณการส่งออกปี 2020 หดตัวที่ -10.4% โดยคาดว่าภาวะการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระยะต่อไป ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมถึงปัญหา supply chain disruption ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง

  โดยล่าสุด ข้อมูลการส่งออกของหลายประเทศสำคัญเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับ Global PMI: export orders ที่ปรับดีขึ้นในช่วงหลัง (รูปที่ 3) สะท้อนการส่งออกไทย (ไม่รวมทองคำ) ที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า

  อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกไทยยังมีอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงของ COVID-19 ที่จะกลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งในหลายประเทศ โดยล่าสุด จะเห็นได้ว่า มีบางประเทศที่ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น หลังจากผ่อนคลายไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวได้

  นอกจากนี้ หากมีการระบาดรุนแรงอีกครั้ง ก็ย่อมทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมี ผ่านราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง

  2) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หลังสหรัฐฯ ออกมาตรการกดดันจีนด้านต่าง ๆ เพื่อให้จีนทำตามข้อเรียกร้องและทำตามเป้าหมายข้อตกลงการค้าระยะแรก รวมถึงล่าสุด ที่สหรัฐฯ ได้มีการสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮุสตัน และจีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเฉิงตู ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งและการตอบโต้เพิ่มเติมระหว่างกันในระยะต่อไปได้

  3) การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งทำให้ความไม่แน่นอนทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศต่าง ๆ สูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

บทวิเคราะห์โดย...https://ift.tt/3f85p2K


ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ (kampon.adireksombat@scb.co.th)
  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและการตลาดเงิน

  พนันดร อรุณีนิรมาน (panundorn.aruneeniramarn@scb.co.th)
  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส


  พิมพ์ชนก โฮว (phimchanok.hou@scb.co.th)
  นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com

Let's block ads! (Why?)



"ออกไป" - Google News
July 29, 2020 at 09:01AM
https://ift.tt/2X1ES0E

EIC SCB เผยส่งออกมิ.ย.หดตัวน้อยลง สะท้อนการค้าโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว - efinanceThai
"ออกไป" - Google News
https://ift.tt/2MnsD8Q

No comments:

Post a Comment