ในที่สุด กองทัพเรือก็ยอมถอย เลื่อนการขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน ผมเชื่อว่ากองทัพเรือถอยเพราะ “การเมือง” เป็นการถอยเพื่อรักษาเสถียรภาพให้รัฐบาล ลดทอนแรงเสียดทานทางการเมืองให้ ในขณะที่สุ้มเสียงของกองทัพ ยังคงยืนยันถึง “ประโยชน์” ของการจัดหาเรือดำน้ำ
ดูตัวอย่างได้จาก พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ทำหน้าที่แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า
“...เป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ (ทร.) ผูกพันงบประมาณข้ามปี 2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แล้ว ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณปี 2564 อย่างที่มีการเข้าใจกัน เป็นในตามกรอบงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับการจัดสรรในทุกปี ไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นการตั้งงบฯ ผูกพันปกติ ทั้งนี้ในปี 2563 ทร.ได้ชะลอโครงการเรือดำน้ำไปแล้ว งบประมาณส่วนหนึ่งได้ส่งคืนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ประมาณ 3,375 ล้านบาท และ ปี 2564 ก็ได้มีการเลื่อนไปก่อนอีก 3,925 ล้านบาท ก็จะอยู่กับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ งบฯ ในการพิจารณา ทั้งนี้ ไม่อยากให้มีการบิดเบือน เพราะส่วนนี้เป็นงบประมาณในส่วนของ ทร. เอง ไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น ในภาพรวมกองทัพได้งบประมาณทั้งหมด 6.77 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด...”
พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิกผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาท/ ต่อปี ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 ล้านล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมที่มีอยู่ 30 แท่นขุดเจาะ มีคนทำงานอยู่เป็นหมื่นคน มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ภาคประมงอีก 2 แสนล้านบาท มีชาวประมงที่ประกอบอาชีพหลายแสนคนการท่องเที่ยวอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เราต้องดูแล นอกจากนั้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ เจดีเอ ที่กำหนดร่วมกันจะสิ้นสุดปี 2572 สถานการณ์ทางทะเลไม่ใช่ว่าจะดี มีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2572 อาจมีความขัดแย้งระดับต่ำ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ดังนั้นการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลต้องมีให้ครบทุกมิติ ผิวน้ำ บนฟ้า แผ่นดิน และใต้น้ำ ทร.มองครบทุกมิติโดยเฉพาะมิติใต้น้ำด้วย แต่เขายอมที่จะเจียดงบประมาณที่เกี่ยวข้อกับทางบก ผิวน้ำ บนฟ้า เพื่อให้ลงใต้น้ำให้ได้ เพื่อทำงานให้ครบทุกมิติ ขอเรียนว่ามีความจำเป็นเพราะกว่าจะต่อเรือดำน้ำได้ 6-7 ปีต่อหนึ่งลำ ซึ่ง เจดีเอ ที่จะสิ้นสุดในปี’72 มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอะไรขึ้นได้
โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า สัญญาที่ทำกันนั้นถูกต้อง ไม่อยากให้มีการบิดเบือน อีกทั้งสัญญาเรือดำน้ำลำที่ 1 ได้ดำเนินการจบไปแล้ว เมื่อมาถึงการดำเนินการลำที่ 2 และ 3 เราทราบถึงความกังวลของ คณะกรรมาธิการฯ ทางนายกฯ และรมว.กลาโหม จึงได้ประสานให้กองทัพเรือ ในการเลื่อนการจัดหาไปก่อน ขณะนี้ ทร.ยอมสละงบประมาณในส่วนนี้ ดังนั้น ในรอบแรก 3,375 ล้านบาทและ ปีนี้ทร.ก็ยอมเสียสละปี 2564 อีก วงเงิน 3,925 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด แต่อยากให้มีความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า ในที่ประชุม รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประสานกับเหล่าทัพ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยให้แสวงหาความร่วมมือกันหน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหม ทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ที่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์และใช้เองในกองทัพ เพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่โครงการลำดับเล็กขึ้นมา ส่วนยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องซื้อ ให้มีการพิจารณาเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพ และให้พิจารณาซื้อจากในประเทศก่อนโดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ภายใต้บัญชีนวัตกรรมที่กำหนด
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดทำงาน การประชุม ครม.วันนี้มีหลายเรื่องที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ หลายอย่างต้องมีการปรับแก้และต้องมีการดำเนินการจัดทำกฎหมาย เราเสนอกฎหมายไปแล้วหลายฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของสภาฯ หวังอย่างยิ่งว่ากฎหมายเหล่านั้นจะออกมาในเร็ววัน ซึ่งมีการคัดกรองตรวจสอบแล้ว
“...เรื่องของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ กรุณาดูที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ด้วย ทุกงบประมาณของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะใช้อะไรได้บ้าง ผมชี้แจงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกมธ.งบฯ ที่จะพิจารณา ต้องดูว่าโครงการไหนจะนำไปใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือยอมเสียสละมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว ต้องมองตรงนี้ด้วย เหตุผลความจำเป็นก็มีแล้ว ตรงนี้ผมพูดในฐานะที่เป็น รมว.กลาโหม เคยบอกไปแล้วต้องพัฒนากองทัพให้สามารถรับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะมีปัญหาพื้นที่ทางทะเลอยู่จำนวนมากซึ่งมันต้องมาถึงเราในไม่นานนี้ ถ้าทุกคนติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่างประเทศดู รวมถึงปัญหาโควิด-19 ด้วย
...ทางทหารเรือเขาก็เสียสละ ต้องลองนึกถ้ามันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แล้วซื้อมา ผมถามว่าแล้วทหารเรือจะลงไปอยู่ในเรือดำน้ำหรือไม่ จะอยากลงไปอยู่ในเรือดำน้ำมั้ย 21 วัน ก็ไม่มี แสดงว่าเขาก็มีความเสียสละของเขาไม่ใช่หรือ ในการรักษาอาณาเขตน่านน้ำไทย ต้องมองตรงนี้ด้วย อยากให้ไปมองในประเด็นของภูมิภาคด้วย ความขัดแย้งยังมีอยู่ทางทะเล ไม่ใช่เฉพาะภูมิภาคเรา หลายภูมิภาคในโลกนี้มีทั้งนั้น อย่าคิดว่ามันไม่มี แต่ทำอย่างไรมันจะไม่เกิดขึ้น การใช้กำลังอาวุธจะไม่เกิดขึ้น มันต้องมีมาตรการเพิ่มศักยภาพบางอย่างขึ้นมาให้เกิดความทันสมัยเกิดความร่วมมือมากยิ่งขึ้น เกิดความเกรงใจ มันแค่นั้น ไม่ใช่มีอุปกรณ์ไว้รบราฆ่าฟัน หลายคนบอกว่าจะไปรบกับใครขอให้คนพูดไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการพูดจาอะไรต่างๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
กระนั้นก็ตาม เมื่อกองทัพเรือยอมถอยอย่างช้ำๆ คำถามคือ เงินก้อนนั้น ที่ได้คืนกลับมา จะไปกระจายอยู่ที่ไหน ใช้ทำอะไร คุ้มค่าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องต้องคิด ต้องติดตาม เพราะที่ผ่านมา เราล้วนคิดกัน “อย่างมักง่าย”ว่า เอาเงินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาโควิด-19 ทั้งๆที่ไม่เคยรู้เนื้องาน ว่าในทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร วิธีแก้ แก้อย่างไร ในแต่ละวิธีใช้เงินได้ถูกต้อง คุ้มค่า สมควรอนุญาตหรือไม่ ไม่เลยครับ แค่ได้ยินคำว่า “แก้เศรษฐกิจ” เราก็ยอม “เซ็นเช็คเปล่า” ให้เขาทันที แทนที่จะดูภาพรวมว่า เศรษฐกิจนั้น เขาขอ “กู้เงิน”มาแล้ว บัดนี้ประชาชนได้รู้ไหม เขาทำอะไรกันบ้าง แต่ละอย่างที่ทำ ใช้เงินเท่าไร สมควรไหม? ส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในงบประมาณปี 2564 เป็นอย่างไร ได้ไปแล้วเท่าไร ใช้ทำอะไร เราก็ไม่เคยได้รู้ ได้ดู ได้คิด อย่างที่เราคิดกับ “เรือดำน้ำ” กัน
กองทัพเรือจึงเป็น “แพะรับบาป” ในเรื่องการใช้งบประมาณไปเสียอย่างนั้น
นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า เรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำนั้น อย่าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา!!!!!
แค่ใช้วงเงินปีงบประมาณ 2564 เพียง 3 พันล้านบาทเศษ แต่ทำเป็นเรื่องใหญ่โตจนต้องเลื่อนไป 1 ปี
ความหมายก็คือ พับเก็บเข้ากระเป๋า และเงินที่ถูกตัดไปนั้นก็ไม่ได้ ประหยัดอะไรเพราะเอาไปเป็นกองกลางแล้วจัดสรรแบ่งปันกัน ให้เป็นงบสส. ทำโครงการต่างๆตามใจชอบ!!
ผมเห็นใจ เข้าใจ และสงสารน้ำใจพี่น้องทหารเรือเต็มหัวใจครับ!!!
อยากจะให้ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการร่วมมือไทยจีนที่สำคัญมี 3 โครงการ เดี้ยงและพับหมดแล้ว คือ
1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทั่วโลก ที่ในยามถูกมหาอำนาจข่มเหงบังคับ ก็ไปขอให้จีนช่วยซื้อข้าว 2 ล้านตัน ยาง200,000 ตัน และจะให้จีนช่วยทำรถไฟ 3 สายตอนนี้เฟสแรก เริ่มที่บ้านกลางดง-บ้านปางสีดา 3.5 กิโลเมตร ผ่านไป 4 ปีแล้วยังทำไม่เสร็จ พูดให้ชัดๆ ก็คือ เบี้ยวกันนั่นแหละ
2.โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง 6 ชาติ เพื่อให้เป็นแม่น้ำแผ่นสันติภาพและการพัฒนาเป็นแม่น้ำแห่งการท่องเที่ยว 6 ประเทศ และขนส่งสินค้าเกษตร 6 ประเทศ ที่ไปลงนามเป็นภาคีไว้ ก็ไม่เข้าร่วมดำเนินการ จนแม่น้ำโขงฝั่งไทยแห้งเป็นถนน ใช้ประโยชน์อันใดไม่ได้ และต้องถูกออกจากโครงการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าร่วมไปแล้ว จนเหลือเส้นทางขนส่งสินค้าออกจากไทย เพียงแค่ที่ EEC เท่านั้น ซึ่งเป็นจุดส่งออกที่สู้พม่า เวียดนามและกัมพูชา หรือ มาเลเซียไม่ได้เลย
3.โครงการซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ซึ่งซื้อไปแล้ว 1 ลำยังขาดอีก 2 ลำ จึงจะครบจำนวนหมู่เรือดำน้ำเล็กที่สุด
ถ้าเอาจริงรัฐบาลก็ชนะอยู่แล้ว!! ดังตัวอย่างเช่นงบค่าใช้จ่ายสู้คดีเรื่องเหมืองทองนั่นไงก็ชนะขาด!!!
เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ซื้อไว้ 1 ลำ ก็คงเอาไว้โชว์วันเด็กได้แค่นั้น
มหาอำนาจชาติใดอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังเตะตัดขาความร่วมมือไทยจีนในเรื่องนี้???
ช่างน่าคิดน่าค้น!!!!!
"ออกไป" - Google News
September 02, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/31Mj2Ry
คอลัมน์การเมือง - เงิน 'เรือดำน้ำ' จะเอาไปทำอะไร? - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"ออกไป" - Google News
https://ift.tt/2MnsD8Q
No comments:
Post a Comment