อาจไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า ส่วนใหญ่ของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางโดยทั่วไป มักจะอยู่ในรูปแบบของการทำธุรกิจครอบครัว
ลักษณะของธุรกิจครอบครัวที่เข้าใจกันก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจบุกเบิกและขยายธุรกิจออกไป และส่งต่อความเป็นเจ้าของธุรกิจสืบทอดไปยังทายาทธุรกิจที่เป็นสมาชิกในครอบครัวให้ดำเนินธุรกิจสืบต่อไป ส่วนใหญ่มักจะส่งต่อให้บรรดาลูก ๆ หรือลูกคนใดคนหนึ่ง ส่วนน้อย อาจส่งต่อให้พี่น้อง หรือญาติสนิทหากบรรดาลูก ๆ ไม่สนใจที่รับช่วงเป็นเจ้าของธุรกิจต่อไป และเมื่อไม่ได้ส่งต่อให้ทายาทรุ่นต่อไป ก็เป็นอันว่า ธุรกิจครอบครัวก็สิ้นสภาพลงไป
ความต่อเนื่องยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวอาจอยู่ไปได้ถึงกว่า 5-6 ชั่วอายุคน หรือในบางครั้ง เช่น ธุรกิจครอบครัวในหลาย ๆ ประเทศ มีสถิติสืบทอดความเป็นเจ้าของในครอบครัวต่อมากว่า 100-200 ปี ก็มี
การเติบโตของธุรกิจครอบครัวในแนวคิดแบบเดิม ก็คือ การขยายธุรกิจออกไปด้วยการสร้างยอดขาย กำลังการผลิต หรือขยายสาขาออกไป โดยยังใช้ชื่อหรือเอกลักษณ์ของธุรกิจเดิมที่เป็นของครอบครัว และมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่เข้ามาเกี่ยวข้องในธุรกิจจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน หรือ เครือญาติอื่น ๆ ในสายครอบครัวที่ห่างออกไปจากครอบครัวผู้ก่อตั้งธุรกิจ
และเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเวลาผ่านไป การที่มีสมาชิกครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากขึ้น ความเป็นเจ้าของธุรกิจมีการกระจายออกไปภายในครอบครัว มีผู้ถือหุ้นจำนวนมากขึ้นจากการที่มอบหุ้นต่อให้แก่ทายาทหลาย ๆ คน หรือ ให้หุ้นของครอบครัวเป็นของขวัญหรือรางวัลให้แก่ลูกหลานต่อไป ทำให้อำนาจการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นกระจายออกไปจนขาดความเข้มแข็ง เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องสิ้นสุดความเป็นธุรกิจครอบครัวไปก็มีให้เห็น
แต่ในแนวคิดสมัยนี้ ธุรกิจครอบครัวอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นธุรกิจเดียวที่มีการเติบโตออกไปจากแกนกลางที่แผ่ขยายออกไปเป็นอาณาจักร เป็นกงสีที่ต้องเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวที่จะมีจำนวนมากขึ้นทุกที แต่อาจแบ่งส่วนธุรกิจออกไปให้ทายาทต่าง ๆ ที่สนใจในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนน้อย เช่น 1-2 คน
ในลักษณะอาณาจักรธุรกิจครอบครัวแบบเดิม อาจทำได้โดยการตั้งเป็นแผนกใหม่ สาขาใหม่ หรือหน่วยผลิตใหม่ ขึ้นมาภายใต้ร่มเงาและกฏเกณฑ์ของของธุรกิจเดิมอยู่
ถ้าทายาทอยากจะแยกธุรกิจออกไป ก็จะขาดความเชื่อมโยงทางธุรกิจแยกออกไปจากธุรกิจหลัก แม้ว่าความเชื่อมโยงในฐานะที่เป็นครอบครัวยังอาจคงอยู่เช่นเดิม
การใช้รูปแบบเครือธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจ ที่มีธุรกิจขนาดต่าง ๆ กัน อาจใช้ชื่อกิจการต่างกัน หรือมีลักษณะประเภทของธุรกิจที่ต่างกัน แต่ยังคงสภาพของเครือธุรกิจที่มีความเป็นธุรกิจครอบครัวที่เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นชัดเจน
วิธีการหนึ่งที่จะทำได้ ก็คือ การให้สมาชิกครอบครัวที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น อาจเป็นผู้อาวุโส หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยทุกแห่งในเครือ โดยมีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจผ่านที่นั่งในคณะกรรมการบริษัท
อีกวิธีหนึ่ง ก็คือการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว ที่จะทำหน้าที่เข้าไปลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจย่อยที่เกิดใหม่ของบรรดาเหล่าทายาทในครอบครัวที่ต้องการใช้ทุนทรัพย์หรือทรัพยากรของครอบครัวในการริเริ่มก่อตั้งธุรกิจใหม่ โดยมีอิสระในการบริหารกิจการบริษัทย่อยที่เป็นอิสระมากขึ้น
ในบางกรณี อาจมีการตั้งกองทุนของครอบครัวในลักษณะกองทุนทรัสต์ และมีผู้จัดการกองทุนในการดูแลทางด้านการเงินให้แก่บริษัทในเครือทั้งหมดของครอบครัว รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดให้เกิดความยุติธรรมในฐานะของผู้จัดการกองทุนที่เป็นบุคคลที่ 3 และไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำธุรกิจมีโมเดลที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ และมีเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นในการบริหารจัดการทรัพย์สินและทรัพยากรอื่น ๆ ของครอบครัว ที่จับต้องไม่ได้แต่มีคุณค่าในทางธุรกิจ เช่น ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของครอบครัว ความชำนาญพิเศษในเรื่อง การผลิต การตลาด เครือข่ายพันธมิตร ฐานลูกค้า ฯลฯ ที่ธุรกิจเกิดใหม่จากบรรดาทายาทที่มีพื้นฐานการศึกษา ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น สามารถนำทรัพย์สินทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของครอบครัว มาสนับสนุนให้ธุรกิจใหม่ของครอบครัวมีอัตราความสำเร็จ และอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าการที่ทายาทจะแยกตัวออกไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ด้วยตัวเอง
ต้องไม่ลืมว่า องค์ประกอบสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่ต้องอาศัยพึงพิงกันตลอดเวลาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ได้แก่ 1) ความเป็นครอบครัว 2) ความเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วน และ 3) ความเป็นผู้บริหารธุรกิจ
สมาชิกครอบครัวที่ถือองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนครบในตัวบุคคล ก็คือ สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารในกิจการ มีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการจากการเป็นพนักงานหรือผู้บริหารในบริษัท ได้รับส่วนแบ่งปันผลในฐานะผู้ถือหุ้น และได้รับสวัสดิการหรือส่วนแบ่งต่างๆ ในฐานะสมาชิกครอบครัว
ทายาทที่ร่วมงานในธุรกิจของครอบครัวไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพนักงานหรือผู้บริหาร ก็จะได้ส่วนของความเป็นสมาชิกครอบครัวและผลตอบแทนการทำงานจากบริษัท
ทายาทที่มีส่วนถือหุ้น แต่ไม่ได้ทำงานให้บริษัทครอบครัว ก็จะไม่มีส่วนได้ผลตอบแทนการทำงานจากบริษัท
ทายาทที่ไม่เป็นผู้ถือหุ้นและไม่ได้ทำงานในบริษัทของครอบครัว ก็จะได้เพียงสิทธิในการเป็นสมาชิกครอบครัวตามส่วนแบ่งจากทรัพย์สินหรือทรัพยากรที่เป็นส่วนของครอบครัวเท่านั้น
ดูบทความทั้งหมดของ เรวัต ตันตยานนท์
"ออกไป" - Google News
June 24, 2020 at 12:35PM
https://ift.tt/2NomTwn
อีกรูปแบบหนึ่งของธุรกิจครอบครัว | เรวัต ตันตยานนท์ - กรุงเทพธุรกิจ
"ออกไป" - Google News
https://ift.tt/2MnsD8Q
No comments:
Post a Comment